วันเสาร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ข่าวกีฬา

ค่าย "ลุยโคลนปลูกข้าว"

WRITTEN BY TOONGPANG ON MAY 14, 2014. POSTED IN กิจกรรมคลิปทั่วไป

               "ข้าว"  พืชที่ได้ชื่อว่าเป็นอาหารหลักของคนไทย  เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศแห่งการเกษตรกรรม  โดยเฉพาะการประกอบการเกษตรด้านการทำนาปลูกข้าว  แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า  กว่าจะมาเป็นข้าวในจานที่เรานำมาบริโภคได้นั้น  ต้องผ่านกรรมวิธีอย่างไรมาบ้าง  ดังนั้นเว็บไซต์วิชาการดอทคอมและบริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมกับศูนย์วิจัยข้าว จ.ปทุมธานี จึงได้จัดกิจกรรม "ลุยโคลน ปลูกข้าว"  ขึ้น  ณ ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี

p03

               กิจกรรม "ลุยโคลน  ปลูกข้าว"  จัดขึ้นในวันที่ 29 เมษายน 2557 ณ ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี  เป็นกิจกรรมที่ให้น้อง ๆ ซึ่งมีอายุระหว่าง 5-12 ปี  ได้เรียนรู้และปลูกฝังจิตสำนึกในด้านสิ่งเเวดล้อม โดยฝึกให้น้อง ๆ เรียนรู้กระบวนการการปลูกข้าว เกี่ยวข้าว นวดข้าว สีข้าว เรียนรู้เทคโนโลยีในการปรับปรุงพันธุ์ข้าว การแปรรูปผลิตภัณฑ์ และเยี่ยมชมโรงสีข้าว เพื่อให้น้อง ๆ ได้ตระหนักและเห็นถึงคุณค่าของข้าว พืชหลักที่เรานำมาบริโภค

               กิจกรรมเริ่มลงทะเบียนน้อง ๆ เวลา 8.30 น. ซึ่งมีน้อง ๆ จำนวนทั้งสิ้น 60 คน  โดยแบ่งน้อง ๆ เป็นกลุ่มทั้งหมด 5 กลุ่มได้แก่  กลุ่มข้าวเจ้า  กลุ่มข้าวเหนียว  กลุุ่มข้าวสาร  กลุ่มข้าวกล้อง  และกลุ่มข้าวหอมค่ะ

ลงทะเบียน
น้อง ๆ เริ่มลงทะเบียนกิจกรรม

               เมื่อน้อง ๆ ลงทะเบียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว  จึงเริ่มกิจกรรมการเรียนรู้  โดยวิทยากรจากศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานีได้เล่าประวัติความเป็นมาของศูนย์วิจัยว่าเป็น "สถานีการทดลองข้าวแห่งแรกของประเทศไทย"  ซึ่งตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2459  ในชื่อ  นาทดลองคลองรังสิต  สังกัดกรมเพาะปลูก  โดยมีพระยาโภชากร (ตริ มิลินทสูต)  เป็นหัวหน้าคนแรก  ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น สถานีทดลองข้าวรังสิต สังกัดกรมการข้าวในปี พ.ศ. 2496  จนต่อมาได้รับการยกฐานะเป็น ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี เมื่อปี พ.ศ 2526  และปัจจุบันสังกัดกรมการข้าวซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ในปีพ.ศ. 2549  ดังนั้นศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานีแห่งนี้จึงนับเป็นศูนย์วิจัยที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของไทยเลยทีเดียว

ฟังบรรยาย

เรียนรู้ประวัติความเป็นมาของศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี

               หลังจากเรียนรู้ความเป็นมาของศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานีแห่งนี้แล้วจึงเริ่มกิจกรรมการเรียนรู้ตามฐานต่าง ๆ เริ่มจาก ฐานที่ 1 คือ ฐานมาสีข้าวกันเถอะ เรียนรู้เกี่ยวกับโรงสีข้าว

               การสีข้าว  เป็นขั้นตอนการแปรรูปเบื้องต้นของข้าวเปลือกให้ได้เป็น  ข้าวสารหรือข้าวกล้อง  เพื่อให้เหมาะแก่การนำไปรับประทาน  โดยเริ่มจากการทำความสะอาดข้าวเปลือก  เพื่อแยกเอาสิ่งแปลกปลอมออก  โดยอาจใช้ตะแกรงร่อนเพื่อนำจำพวกเศษพืช ฝุ่น กรวดออกจากข้าวเปลือก  เพื่อทำความสะอาดข้าวเปลือกเสร็จแล้ว  ขั้นตอนต่อไปจึงนำมากระเทาะเปลือกเพื่อแยกเอาเปลือกหุ้มเมล็ด หรือที่เราเรียกกันว่า แกลบออกมาจากเมล็ดข้าวนั่นเอง  โดยในขั้นตอนนี้เราจะใ่ช้เครื่องกระเทาะเพื่อให้แกลบหลุดออกจากเมล็ดข้าว  ซึ่งข้าวที่ได้จากขั้นตอนนี้จะเรียกกว่าข้าวกล้อง  ซึ่งจะยังมีเยื่อหุ้มเมล็ดติดอยู่  ต่อมาจึงนำข้าวไปขัดขาว  ซึ่งเป็นการขัดชั้นรำที่เป็นเยื่อหุ้มเมล็ดออกจากข้าวกล้องก็จะได้ข้าวขาวที่เรานำมาบริโภค

โรงสีข้าว

ฐานที่ 1 ฐานมาสีข้าวกันเถอะ เรียนรู้เกี่ยวกับโรงสีข้าว

               เสร็จจากฐานแรกแล้ว น้อง ๆ จึงมาเรียนรู้ฐานที่ 2 กันต่อ  โดยฐานนี้มีชื่อว่า "เทคโนโลยีปลูกข้าว โยนข้าว"  โดยในฐานนี้น้อง ๆ จะได้เรียนรู้หนึ่งในวิธีการปลูกข้าว นั่นก็คือ นาโยน  หรือการปลูกข้าวแบบโยนกล้า  ซึ่งวิธีการนั้นไม่ยากเลย  โดยเริ่มจากจัดเตรียมถาดหลุมที่ใช้ในการเพาะกล้าและโรยดินละเอียดลงไปในถาดเพาะความลึกประมาณครึ่งหนึ่งของหลุม  หลังจากนั้นจึงนำเมล็ดข้าวมาโรยลงไปในถาดหลุมจำนวน 3-4 เมล็ดต่อหลุม  จนครบทุกหลุม  เมื่อเสร็จแล้วจึงโรยดินละเอียดกลบทับให้เสมอปากหลุม  หลังจากนั้นจึงรดน้ำเช้า – เย็น  ประมาณ 3-4 วัน  ต้นกล้าก็จะงอกขึ้นมา  โดยต้นกล้าที่พร้อมจะปลูกคือต้นกล้าอายุประมาณ 15-20 วัน  หรือมีความสูง 3-5 นิ้ว  เมื่อได้ต้นกล้าในระยะนี้แล้วจึงนำไปโยนในแปลงปลูกข้าว  โดยโยนตุ้มต้นกล้าไปในแปลงและทิ้งไว้ประมาณ 3-34 วันต้นกล้าก็จะงอกและตั้งตรงขึ้นมา

ฐานปลูกกล้า

ฐานที่ 2 เทคโนโลยีปลูกข้าว โยนข้าว

               ต่อด้วยฐานที่ 3 "รู้จักแมลงศัตรูข้าว"  แมลงศัตรูข้าวนั้นมีมากมายหลายชนิด  แต่ที่เรามาเรียนรู้ในวันนี้คือ  เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล  ซึ่งเป็นแมลงจำพวกปากดูด   ตัวเต็มวัยของเพลี้ยกระโดดจะมีมีสีน้ำตาลไปจนถึงสีดำ  โดยเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจะทำลายข้าวโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นข้าว  ทำให้ต้นข้าวมีอาการใบเหลืองแห้ง ลักษณะคล้ายถูกน้ำร้อนลวกแห้งตายเป็นหย่อม ๆ  

ฐานศัตรูข้าว

ฐานที 3 รู้จักแมลงศัตรูข้าว

               ฐานที่ 4  "การผสมพันธุ์ข้าว  แสดงพันธุ์ข้าว  แปลงข้าว"  ฐานนี้จะเป็นการสาธิตวิธีการปรับปรุงพันธุ์ข้าว  โดยการผสมเกสรเพื่อให้ข้าวมีพันธุ์ที่ดีขึ้น เนื่องจากข้าวเป็นพืชผสมตัวเอง  การผสมพันธุ์เพื่อปรับปรุงพันธุ์ข้าวนั้น  จึงจำเป็นต้องนำเกสนตัวผู้ออกก่อน  แล้วจึงนำเกสรตัวผู้ตัวอื่นมาผสม  

               วิธีการผสมนั้นสามารถทำได้โดยใช้กรรไกรตัดดอกข้าวที่คิดว่าจะบานในวันรุ่นขึ้น  และคีบเขี่ยเอาเกสรตัวผู้ออกให้หมด  และนำละอองเกสรตัวผู้ของข้าวที่เป็นพ่อพันธุ์มาเคาะให้ตกใส่ดอกข้าวที่มีแต่เกสรตัวเมีย  สังเกตว่าหากมีละอองสีเหลือง ๆ ของเกสรตัวผู้เกาะบนยอดเกสรตัวเมีย  แสดงว่าได้ถ่ายละอองเกสรเสร็จเรียบร้อยแล้ว  หลังจากนั้นจึงใช้ถุงพลาสติกครอบรวงไว้  โดยอาจทำสัญลักษณ์ผูกป้ายชื่อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์  และวันเดือนปีที่ผสมเพื่อกำกับไว้  หลังจากนั้นดอกที่ทำการผสมเรียบร้อยแล้วก็จะพัฒนาเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เราต้องการค่ะ

ฐานปรับปรุงพันธุ์ข้าว

ฐานที่ 4 การผสมพันธุ์ข้าว  แสดงพันธุ์ข้าว  แปลงข้าว

               เสร็จจากฐานที่ 4 แล้วน้อง ๆ ก็มาเรียนรู้ในฐานที่ 5 กันต่อค่ะ  โดยฐานนี้เป็นฐานสุดท้ายแล้ว  มีชื่อฐานว่า "เรียนรู้การแปรรูปข้าว ผลิตภัณฑ์จากข้าว"  โดยฐานนี้น้อง ๆ จะได้เรียนรู้การนำข้าวไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ และหนึ่งในนั้นก็คือ  ขนมดอกจอก  ซึ่งวิทยากรจะสาธิตวิธีการทำขนมดอกจอก โดยอธิบายถึงส่วนผสมและวิธีการนำไปทอดโดยใช้แป้นพิมพ์  ทำให้ได้ออกมาเป็นขนมดอกจอกหน้าตาน่ารับประทาน  ซึ่งฐานนี้นอกจากน้อง ๆ ทุกคนจะต่างสนุกสนานกับการทำขนมแล้ว  ยังอิ่มท้องกับการรับประทานขนมดอกจอกฝีมือตนเองด้วยค่ะ

ฐานแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าว

ฐานที่ 5 เรียนรู้การแปรรูปข้าว ผลิตภัณฑ์จากข้าว

               หลังจากเสร็จกิจกรรมการเรียนรู้ตามฐานต่าง ๆ แล้ว  น้อง ๆ ทุกคนจึงมาพร้อมกันที่ห้องประชุมเอนกประสงค์  เพื่อรับประทานอาหารกลางวันและเล่นเกมส์กิจกรรมถามตอบ พร้อมทั้งพักผ่อนตามอัธยาศัย ก่อนที่จะเริ่มกิจกรรมภาคบ่ายค่ะ

ตอบคำถาม

รับประทานอาหารกลางวันและเล่นเกมส์กิจกรรมถามตอบ

               เมื่อน้อง ๆ ทุกคนรับประทานอาหารกลางวันกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว  ก็พร้อมลุยกิจกรรมภาคบ่ายกันต่อ  ซึ่งบ่ายนี้จะเป็นกิจกรรมการปลูกข้าว  ให้น้อง ๆ ได้ลงไปปลูกข้าวในนาจริง ๆ  ซึ่งวิธีการปลูกข้าวในครั้งนี้จะเป็นการปลูกด้วยวิธี "นาโยน"  โดยโยนตุ้มต้นกล้า  หรือต้นกล้าอ่อนที่ติดมาพร้อมกับดินลงไปในแปลงปลูกข้าว  

               ในการโยนกล้านั้น จะใช้ต้นกล้าประมาณ 60-70 กระบะต่อไร่  ซึ่งวิธีการโยนนั้นให้ใช้มือหยิบต้นกล้าออกจากกระบะหลุม  และโยนให้สูงกว่าศีรษะ  ต้นกล้าก็จะพุ่งลง  โดยใช้ส่วนรากที่มีดินติดอยู่โดยใช้ส่วนรากที่มีดินติดอยู่ลงพื้นดินก่อน และหลังจากนั้นประมาณ 3 วัน ต้นข้าวจะสามารถตั้งตัวได้  ซึ่งน้อง ๆ ทุกคนต่างสนุกสนานไปกับการปลูกข้าวแบบนาโยนนี้เป็นอย่างมากค่ะ

ปลูกข้าว

น้อง ๆ ลงมือปลูกข้าวด้วยวิธีนาโยน

               เมื่อน้อง ๆ ได้ปลูกข้าวกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว  ก็ถึงเวลาชะล้างทำความสะอาดร่างกายที่เปื้อนดินโคลนจากแปลงปลูกข้าว  เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วน้อง ๆ ทุกคนจึงรวมตัวกันอีกครั้งที่ห้องประชุมเอนกประสงค์  เพื่อทำพิธีปิดกิจกรรมค่าย "ลุยโคลนปลูกข้าว"  และมอบประกาศนียบัตรให้แก่น้อง ๆ ทุกคน  พร้อมทั้งร่วมกันถ่ายรูปหมู่ร่วมกันเป็นที่ระลึกค่ะ

รับเกียรติบัตร

รับมอบประกาศนียบัตร

               กิจกรรมในครั้งนี้นอกจากน้อง ๆ ทุกคนจะได้รับความสนุกสนานจากการลงมือการปลูกข้าวด้วยตนเองแล้ว  น้อง ๆ ทุกคนยังได้รับความรู้เกี่ยวกับ"ข้าว" ทั้งเรียนรู้การสีข้าว  เทคโนโลยีการปลูกข้าว  แมลงศัตรูข้าว การผสมพันธุ์เพื่อปรับปรุงพันธุ์ข้าว  และการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าว  ซึ่งล้วนเป็นกิจกรรมที่ให้ความรู้และช่วยปลูกฝังจิตสำนึกให้น้อง ๆ ทุกคนรักและตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งแวดล้อม  โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชที่เราเรียกว่า "ข้าว"  พืชที่เป็นอาหารหลักของคนไทย

               ทางทีมงานหวังเป็นอย่างยิ่งว่า น้อง ๆ ทุกคนจะประทับใจกับกิจกรรมในครั้งนี้  และนำความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้ไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันต่อไปนะคะ  แล้วพบกันใหม่ในกิจกรรมครั้งหน้าค่ะ  ^_^

IMG_7632

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น